วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นบุตรของเจ้าไชยกุมาร (เม้า) และนางนุ้ย สุวรรณรงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ณ บ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร บรรพชาเมื่ออายุ ๑๙ ปี ที่วัดโพนทอง อุปสมบทครั้งแรกอายุ ๒๐ ปี ณ วัดสิทธิบังคม มีพระครูป้องเป็นพระอุปัชฌาย์ ญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ วัดโพธิสมภรณ์ โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และได้มรณภาพลงในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน พรรษา ๕๒
ในหลวงกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หนังสืออนุสรณ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้บันทึกไว้ว่า ถ้ามองจากแง่ของโลกธรรม ความคลี่คลายสำคัญที่สุดในชีวประวัติของท่านพระอาจารย์ คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินต้นที่วัดป่าอุดมสมพร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖
บรรดาศิษยานุศิษย์ก็พากันตื่นเต้น เพราะถือว่าเป็นนิมิตดีสำหรับบ้านเมืองด้วย ความคาดหมายนั้นคงไม่ผิดพลาดมากนัก เพราะปรากฏว่าล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัยในธรรมะของท่านพระอาจารย์เป็นอันมาก
ดังที่เห็นได้จากการที่ได้ทรงนิมนต์ ท่านพระอาจารย์เข้าไปแสดงธรรมในกรุงเทพฯ หลายครั้ง และเสด็จเยี่ยมถึงวัดเป็นการส่วนพระองค์ก็มี แม้ในคราวอาพาธครั้งสุดท้าย ก็ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ตั้งแต่ต้นจนตลอด
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร ได้ตอบปัญหาธรรมในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ครั้งแรก มีใจความสำคัญดังนี้
นมัสการถาม : ทำอย่างไร ประเทศชาติ ประชาชน จะอยู่ดีกินดี มีความสามัคคีปรองดองกัน
ถวายวิสัชนา : ให้เข้าหาพระศาสนา เพราะศาสนาสอนให้ละชั่ว กระทำความดี ทำใจให้ผ่องใส
นมัสการถาม : คนส่วนมากทำดี คนส่วนน้อยทำชั่ว จะทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนไหม ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขได้
ถวายวิสัชนา : ขอถวายพระพร ทุกวันนี้คนไม่รู้ศาสนาจึงเบียดเบียนกัน ถ้าคนเรานึกถึงตนแล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน เพราะต้องการความสุขความเจริญ คนอื่นก็เช่นกัน คนทุกวันนี้เข้าใจศาสนาว่าอยู่กับวัด อยู่ในตู้ ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้าประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจบ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวาย มองหน้ากันได้ ถ้าคนเราถือกันเป็นบิดามารดา เป็นพี่เป็นน้องกันแล้วก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มีใจ เราไม่มีกรรม กรรมก็ไม่มี ฉะนั้นให้เรามีพรหมวิหารธรรม อย่างมหาบพิตรเสด็จมานี้ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด
พระมงคลวิเสสกถา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ๖ ธันวาคม ๒๕๓๙ แสดงไว้ว่า
“ไม่ว่าจะตกเข้าไปในที่มีภัยอันตรายมากมายเพียงใด ผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะย่อมพ้นจากภัยทั้งปวงนั้น ทั้งทางกายและทางใจ ทางใจคือ ไม่กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้งและไม่หนี มีแสดงไว้ว่า ผู้นึกถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรมของพระองค์หรือพระสงฆ์สาวกของพระองค์ แม้ตกอยู่ในที่แวดล้อมที่น่าสะพรึงกลัว ก็จะไม่กลัว ไม่หนี เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ไม่สะดุ้ง ไม่กลัว และไม่หนี
สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะมั่นคง จึงไม่เคยทรงหนีเหตุการณ์ใดเลย ทรงเผชิญได้ด้วยพระอาการสงบอย่างยิ่งและทรงชนะตลอด
ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แห่งวัดถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร เล่าไว้ว่า
ท่านได้นิมิตเห็นสัตว์ร้ายมากมายในป่าแห่งหนึ่ง กำลังอาละวาดวุ่นวายไปทั้งป่า สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงปรากฏพระองค์ขึ้น ท่ามกลางความน่าสะพรึงกลัวนั้น และทันใดสิงห์สาราสัตว์ที่กำลังบ้าคลั่งก็สยบลงทั้งหมดแทบเบื้องพระยุคลบาท
ศุภนินิตท่านพระอาจารย์ฝั้น ท่านปรากฎแล้วว่าเป็นจริง มีเหตุการณ์เกิดขึ้นรับรองแล้วหลายครั้งหลายหนเป็นที่ประจักษ์”
ในเดือนกันยายน ๒๕๑๙ พระอาจารย์ฝั้นได้เกิดอาพาธ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร แต่อาการไม่ดีขึ้นจึงได้นิมนต์ท่านเข้าการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รักษาอยู่ระยะหนึ่งท่านก็ขอกลับวัดป่าอุดมสมพร สกลนคร อาการบางอย่างก็หายเป็นปกติ แต่ก็ได้มีโรคอื่นแทรกซ้อนมา
จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๑๙ อาการของโรคหัวใจของท่านก็กำเริบ วันที่ ๒๗ ธ.ค. ๒๕๑๙ พระอาจารย์ฝั้นเกิดอาการช็อค ทางคณะแพทย์ได้นิมนต์ให้ท่านเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสกลนคร แต่ท่านไม่ยอมไป คณะแพทย์หลวงได้ทราบข่าวจึงได้ขอนิมนต์ท่าน ให้เข้ารับการรักษาที่กรุงเทพฯ ท่านก็ไม่ยอมเช่นกันยังคงพักรักษาอยู่แต่ที่วัดป่าอุดมสมพรตลอดมา โดยมีคณะแพทย์หมุนเวียนกัน ไปเฝ้าอาการตลอดเวลา จนกระทั่งถึง วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๐ เวลา ๑๙.๕๐ น. พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ละขันธ์ธาตุไปด้วยอาการสงบสิริรวมอายุ ๗๘ ปี
ข่าวมรณภาพของพระอาจารย์ฝั้น ได้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว สาธุชนผู้มีความเคารพในตัวท่านได้หลั่งไหลไปคารวะศพท่านที่วัดอย่างเนืองแน่น ต่างอาลัยอาวรณ์ในพระอาจารย์ฝั้นเป็นอย่างมาก เพราะท่านเป็นที่รวมแห่งจิตใจของศิษย์ทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง
การบำเพ็ญพระราชกุศลงานศพและงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบข่าวก็ได้เสด็จฯ ไปยังวัดป่าอุดมสมพร เมื่อวันที่ ๕ ม.ค. ๒๐ ทรงสรงน้ำศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน พระราชทานศพ พระราชทานหีบทองทึบประกอบศพด้วย
ในการสรงน้ำศพของพระอาจารย์ฝั้นครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของเมืองไทย ไม่ว่ากรณีศพของบุคคลใดก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์ พระราชทานอาบน้ำศพแล้วจะไม่มีการรดน้ำศพอีก
แต่กรณีศพของพระอาจารย์ฝั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ด้วยพระกระแสรับสั่งของพระองค์เองว่า
“...ขออย่าได้ห้ามประชาชนสรงน้ำศพท่านอาจารย์ จงให้เขาได้สรงน้ำกันต่อไปตามแต่ศรัทธา...”
พระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากการสรงน้ำศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ความว่า
“...ในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ ขอให้ทุกคนได้สามัคคีกัน อย่าให้เกิดความแตกแยก และขอให้ยึดมั่นในคำสั่งสอนของท่านไว้ให้มั่นคง...”
“...ขอให้เก็บอัฐิของท่านพระอาจารย์ไว้แห่งเดียวกัน...” และ “...เครื่องอัฐบริขารของท่านพระอาจารย์ ถ้าสามารถเก็บรวบรวมรักษาไว้เป็นที่เดียวกันก็จะดี...”
วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร เป็นกรณีพิเศษโดยส่วนพระองค์
อนุสรณ์สถาน : พระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลามงคล ทรงบรรจุพระอัฐิ และทรงเปิดพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ โดยลำดับดังนี้
วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลามงคลพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์
วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระอัฐิ และทรงเปิดพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์
Source : watohio dhammaram
No comments:
Post a Comment