Friday, November 4, 2011

Venerable Ajahn Lee Dhammadharo of Wat Asokaram


เรื่องของโลกยิ่งเรียนก็ยิ่งกว้าง เรื่องของธรรมยิ่งรู้ก็ยิ่งแคบ 
และรู้แคบเท่าไรก็ยิ่งดี ถ้ารู้กว้างออกไปมักฟุ้งซ่าน 
เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบ

ลมกับจิต


พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ ( ท่านพ่อลี ธมฺมธโร )
๗ สิงหาคม ๒๕๐๑ ณ วัดอโศการาม




ในการนั่งภาวนาให้ทำลมให้แคบที่สุด อย่าให้จิตไปยู่นอกตัว ถ้าเราเอาจิตไปอยู่กับคนอื่นสิ่งอื่น เราก็จะต้องได้รู้แต่เรื่องของคนอื่นสิ่งอื่น ส่วนเรื่องของตัวเองก็เลยไม่ได้รู้ได้เห็นอะไรเลย

เราอยู่ใกล้กับสิ่งใดจะต้องสนใจกับสิ่งนั้น เราอยู่ใกล้คนใด ก็จะต้องสนใจกับคนนั้นให้มากที่สุด คนใดนั่งใกล้เรา ต้องสนทนาปราศรัยกับเขา อย่านั่งเป็นใบ้ ทำความคุ้นเคยสนิทสนมกับเขาไว้ ถ้าเราไม่พูดคุยทำไมตรีกับเขาไว้บ้าง เขาก็จะต้องไม่ชอบเรา และกลายเป็นศัตรูของเราไป 

นี้ฉันใด เรื่องร่างกายของเรานี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่ คือ ดิน นํ้า ไฟ ลม ธาตุเหล่านี้ ก็ย่อมเปรียบเหมือนกับญาติหรือมิตรสหายของเรา เพราะเรา นั่ง นอน ยืน เดินไปทางไหน เขาก็ติดตามเราไปทุกแห่ง ฉะนั้นเราต้องสนใจทำความรู้จักคุ้นเคยกับเขาไว้มากกว่าคนอื่น เมื่อสนิทสนมกันแล้ว นานๆไป เขาก็จะรักเราและช่วยเหลือเราได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเรามีมิตรที่ดีและซื่อตรงเช่นนี้ เราก็ย่อมจะปลอดภัยและมีความสุข


ถ้าเรารู้เรื่องธรรมดาของโลก และรู้จักความเป็นจริงของธรรมแล้ว เราก็จะไม่ต้องมีความยุ่งยากในการเป็นอยู่ เรื่องภายนอกนั้น ถึงเราจะศึกษา ให้มีความรู้สักเท่าไร ๆ ก็ไม่ทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้ สู้การเรียนจิตใจของตนอยู่ภายในวงแคบๆ นี้ ไม่ได้

เรื่องของโลกยิ่งเรียนก็ยิ่งกว้าง เรื่องของธรรมยิ่งรู้ก็ยิ่งแคบ และรู้แคบเท่าไรก็ยิ่งดี ถ้ารู้กว้างออกไปมักฟุ้งซ่าน เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการเดินไปในหนทางที่แคบๆ ย่อมจะไม่มีใครเดินสวนทางเข้ามาชนกับเราได้ ส่วนคนเดินตามหลังนี้ช่างเขา เมื่อไม่มีใครสวนทางเข้ามาข้างหน้าแล้ว คนที่จะเดินบังหน้าเราก็ไม่มี เราก็จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าออกไปได้ไกลที่สุด ฉันใด ผู้ทำจิตใจให้แคบเข้าละเอียดเข้าก็จะเกิดความวิเวกสงบ เกิดแสงและเกิดวิปัสสนาญาณ มองเห็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ทุกอย่าง

เหตุนั้น ท่านจึงว่าผู้มีวิปัสสนาญาณ เป็นผู้มีสายตาอันไกล คนที่ส่งจิตออกไปอยู่นอกตัว เปรียบเทียบกับคนที่เดินไปตามถนนกว้างๆ ถนนกว้างนั้น อย่าว่าแต่คนจะสวนทางเข้ามาได้เลย แม้แต่สุนัข และสัตว์ตัวโต ๆ มันก็เดินสวนเข้ามาได้ ฉะนั้น จึงไม่ปลอดภัย จิตผู้นั้นก็จะมีแต่ความฟุ้งซ่าน เต็มไปด้วยนิวรณ์ธรรมหาความสงบมิได้ 

การทำจิตให้แคบ เปรียบอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนกับการขุดหลุม ถ้าเราขุดหลุมเล็กๆ ก็ย่อมจะขุดได้ลึกและเร็วกว่าหลุมกว้างๆ ความเหน็ดเหนื่อยก็มีน้อย กำลังก็ไม่สึกหรอ ย่อมได้ผลดีกว่ากัน หรือจะเปรียบอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนกับแม่น้ำ ถ้ากว้างมากก็มักไหลช้า และไม่แรง ถ้าแคบก็จะไหลเร็วและแรงด้วย หรือน้ำฝนที่ตกลงในที่กว้างย่อมกระจายไปทั่วในที่ต่างๆ น้ำก็จะไม่ขังในพื้นที่เหล่านั้นได้ เท่าไร ถ้าตกลงมาเฉพาะในที่แห่งใดแห่งหนึ่งแต่เพียงแห่งเดียว แล้ว มิช้าก็อาจจะท่วมท้นหัวคันนาได้ ฉันใด อำนาจแห่งจิต ก็เช่นเดียวกัน ถ้ายิ่งแคบและละเอียดมากเท่าไรก็ยิ่งมีกำลังแรงและคุณภาพสูงยิ่ง

ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้เอาจิตมาจดจ่ออยู่กับลมหายใจอย่างเดียว ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องราวอื่น ๆ ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ในลมหายใจอย่างเดียว ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องราวอื่นๆ ให้มีสติสัมปชัญญะ อยู่ในลมเท่านั้น

มันจะไม่ดี จะโง่ จะมืด จะหนาอย่างไรก็ช่างมัน มุ่งดูลมอย่างเดียวจนจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ต่อไปความรู้ก็จะผุดขึ้นในตัวของมันเอง ไม่ต้องไปนั่งคิดถึงว่าอะไรมันจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความรู้เขาจะบอกเรื่องราวเหล่านี้ แก่เราเองอย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน ไม่ใช่ความรู้ตามสัญญาที่ได้ยินเขาบอกเล่า แต่เป็นความรู้ซึ่งเกิดจากวิปัสสนาปัญญา





จิตและลมของเรานี้มีอยู่ถึง ๕ ชั้น

ชั้นที่ ๑ ลมหยาบที่สุดก็ได้แก่ลมที่เราหายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” อยู่ขณะนี้

ชั้นที่ ๒ ลมที่หายใจผ่านลำคอเข้าไปแล้วเชื่อมต่อกับธาตุ ต่างๆ ภายในเกิดความสบายหรือไม่สบาย

ชั้นที่ ๓ ลมหยุดนิ่งอยู่กับที่หมด ไม่วิ่งไปมา ทุกๆส่วนในร่างกายที่เคยวิ่งขึ้นบนลงล่างก็หยุดวิ่ง ที่เคยไปข้างหน้า มาข้างหลังก็ไม่ไปไม่มา ที่เคยพัดในลำไส้ก็ไม่พัด ฯลฯ หยุดนิ่งสงบหมด

ชั้นที่ ๔ ลมที่ทำให้เกิดความเย็นและเกิดแสง

ชั้นที่ ๕ ลมละเอียดสุขุมมากจนเป็นปรมาณู แทรกแซงไปได้ ทั่วโลก มีอำนาจ ความเร็วและแรงมาก

รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นี้ก็อยู่อย่างละ ๕ ชั้น เหมือนๆ กัน เช่น เสียงหยาบ ชั้นที่ ๑ ก็ได้แก่ เวลาพูดจบแล้วดับไป ชั้นที่ ๒ พูดไปแล้วยังดังอยู่ถึง ๒-๓ นาที จึงจะดับ ชั้นที่ ๓ อยู่ได้นานมากแล้วจึงหายไป ชั้นที่ ๔ พูดแล้วถึงพรหมโลก ยมโลก และชั้นที่ ๕ เป็นเสียงทิพย์ พูดแล้วได้ยินอยู่เสมอ พูด ๑๐๐ ครั้ง ก็มีอยู่ ทั้ง ๑๐๐ ครั้ง เสียงไม่สูญไปจากโลก เพราะอำนาจแห่งความละเอียดจึงสามารถแทรกแซงได้อยู่ได้ทุกปรมาณูในอากาศ

ฉะนั้น ท่านจึงว่า รูป รส กลิ่น เสียง ไม่สูญไปจากโลก เพราะโลกนี้เปรียบเหมือนกับจานเสียงที่อัดเสียงอะไรๆ ไว้ได้ทุกอย่าง รูป รส กลิ่น เสียง หรือกรรมดี กรรมชั่วอันใด ก็ดีที่เรากระทำไว้ในโลก มันย่อมจะย้อนกลับมาหาเราเมื่อตายทั้งหมด เหตุนั้น ท่านจึงว่า “บุญบาป” ไม่สูญหายไปไหน คงติดอยู่ในโลกนี้เสมอ จิตละเอียดที่สุด ซึ่งเปรียบเหมือน “ปรมาณู” นั้น มีอำนาจความแรงเหมือนกับดินระเบิดที่จมลงในพื้นแผ่นดิน แล้วก็สามารถระเบิดทำลายมนุษย์ให้ย่อยยับพินาศไปได้ ฉันใด จิตละเอียดที่จมลงในลมก็สามารถระเบิดคนสัตว์ให้พินาศย่อยยับเช่นเดียวกัน คือ เมื่อจิตละเอียดถึงที่สุดถึงขั้นนี้แล้ว ความรู้สึกในตัวตนของเราก็จะดับสิ้นไปไม่มีเหลือ จิตนั้นก็จะหมดความยึดถือในอัตภาพร่างกายตัวตนคนสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้นจึงเหมือนกับ“ปรมาณู” ที่ทำลายสัตว์ ทั้งหลายฉันนั้น

“วิตก” คือ การกำหนดลมหายใจ เปรียบเหมือนกับเราป้อนข้าวไปในปาก “วิจาร” คือขยาย แต่งปรับปรุงลมหายใจ เปรียบเหมือนกับเราเคี้ยวอาหาร ถ้าเราเคี้ยวให้ละเอียดๆ แล้วกลืนลงไป อาหารนั้นก็จะย่อยง่าย และเป็นประโยชน์ แก่ร่างกายได้มาก การย่อยนั้นเป็นหน้าที่ของธรรมชาติร่างกาย ส่วนการเคี้ยวเราต้องช่วยจึงเกิดผล ถ้าเรากลั่นกรองละเอียดได้เท่าไรก็ยิ่งได้ผลดีขึ้นเท่านั้น เพราะของสิ่งใดละเอียดสิ่งนั้นย่อมมีคุณภาพสูง

การทำลมละเอียดนั้นจิตก็จะต้องละเอียดตาม และกายก็ละเอียดด้วย ฉะนั้น พระบางองค์ที่นั่งเจริญกรรมฐานอยู่จนลมละเอียดจิตละเอียด และกายของท่านจึงละเอียดเล็กลงๆ จนสามารถลอดซี่กรงหน้าต่างเข้าไปนั่งอยู่ในโบสถ์ หรือวิหารได้ทั้งๆ ที่ปิดประตูหน้าต่างอยู่ดังนี้ก็มี นี่ก็เป็นอำนาจของลมละเอียดอย่างหนึ่ง

วัตถุใดที่มีความสามารถมากๆ ย่อมเป็นเหตุให้คุณภาพสูงขึ้นกว่าเดิม เช่น เกลือนี้ถ้าเรานำมากลั่นกรองมากๆ เข้า รสเค็มของเกลือนั้นจะกลายเป็นรสหวานไปได้ หรือน้ำตาลซึ่งเดิมรสหวานและเปรี้ยวๆ นิดหน่อย แต่ถ้ากลั่นมากเข้าๆ ก็จะกลายเป็นรสขม ไปได้ เหตุนั้น ท่านจึงว่าไม่มีอะไรเป็นของเที่ยง แต่อะไรจะเที่ยงหรือไม่เที่ยงนี้ เราก็ไม่ต้องไปนึกถึงมัน เพราะเมื่อเราทำจิตใจแคบและละเอียดจนเกิดเป็นญาณความรู้ขึ้นในตนแล้ว อาการทั้งหลายจะบอกให้เรารู้เห็นเองในสิ่งเหล่านี้ เพียงตั้งใจทำจริงอย่างเดียว แล้วในที่สุดก็จะต้องเห็นผลแห่งความจริง



“การไม่ทำจริง เป็นเหตุให้ไม่เกิดผล  เมื่อไม่เกิดผลก็ย่อมเกิดสนิมขึ้นในใจ คือ ความเบื่อหน่าย ท้อถอย เกียจคร้าน แล้วในที่สุดก็เลิก ...


ถ้าทำจริงแล้วย่อมจะเกิดผลเป็นกำลัง (พละ) ๕ ประการ คือ ศรัทธา...วิริยะ...สติ...สมาธิ...ปัญญา”






No comments:

Post a Comment